Bookmark and Share

สนุก ! ความรู้

วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วันพุธที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เจาะเส้นทาง"ธาริต เพ็งดิษฐ์"รับใช้นายไม่เลือกสี สอบภาษีแค่น้ำจิ้ม ต้องเจออีกหลายดอก หมอดูฟันธงดวงดี



วันที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 21:21:56 น.  มติชนออนไลน์

เจาะเส้นทาง"ธาริต เพ็งดิษฐ์"รับใช้นายไม่เลือกสี สอบภาษีแค่น้ำจิ้ม ต้องเจออีกหลายดอก หมอดูฟันธงดวงดี

"ธาริต เพ็งดิษฐ์"เป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ.)ที่ดังเป็นพลุแตก   ตกเป็นข่าวหน้า 1 ทุกวัน ไม่ว่าจะข่าวดีหรือข่าวร้าย
    

ล่าสุด   มือ(ไม่)ดี ส่งจดหมาย มาขู่ฆ่า   จนเจ้าตัวเองก็ยอมรับว่า ขวัญเสีย  เพราะจดหมายในซองสีน้ำตาล ประทับตราครุฑ เขียนว่า
    

" พวกกูทั้งสายลับ อดีตสายลับ สายข่าว ทหาร ตำรวจฯช่วงงานศพอาจารย์เสธ. แดง พวกกูทั้งหลายได้สาบานว่า จะขอทำทุกอย่างเพื่อให้มึงและพวกได้ตายตามเสธแดงอย่างน่าเวทนาเป็นที่สุด เริ่มจากคนที่พวกมึงรักก่อน ส่วนมึงเมื่อไหร่ก็ได้ 10 ปีก็ยังไม่มีคำว่าสาย หากคิดจะแก้แค้นและเอาคืน
     

วิธีฆ่ามึงและพวกนั้นมีมากมายหลายแบบ หากมึงตายโหงขณะมีตำแหน่งติดตัวยิ่งดีมาก ถึงแม้พวกกูจะถูกจับได้ก็ไม่เป็นไร มันจะเป็นประวัติศาสตร์อันล้ำค่าสำหรับการสังหารคนเลวๆอย่างมึง วันนี้กูอาจจะผิด พรุ่งนี้ก็คงถูกเองแหละ สำหรับพวกกูวันนี้อาจเป็นฆาตกร(ฆ่ามึง) แต่วันหน้าคือวีรบุรุษ (แห่งชาติ)โว้ย"
      

โดนขู่ฆ่าแบบเถื่อนๆ  ดิบๆ  อธิบดี ดีเอสไอ.  จึงเรียกใช้บริการหน่วยอารักขาของตำรวจและทหาร ตลอด 24 ชั่วโมง
       

ทว่า ข่าวจดหมายขู่ฆ่า กลบข่าวเช็คปริศนา  1.5 แสนบาท ที่สั่งจ่ายจากเฮียเม้ง โอนเข้าบัญชี   "วรรษมล"  หลังบ้านของอธิบดีดีเอสไอ. ไปในทันที
      

 แม้ว่า สังคมยังไม่ได้รับความกระจ่างว่า เช็ค 1.5 แสนเป็นค่าตอบแทนอะไรกันแน่ ระหว่าง "ค่าวิ่งเต้นเลี่ยงภาษีของเฮียเม้ง" หรือ "เงินค่าบริการคำปรึกษาทางกฎหมาย" ?
      

ยังไม่นับ ประเด็นฝากจาก"เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ "ส.ว.จอมแฉ  ที่เสียบออกมาอย่างรู้จังหวะ  ทวงถามว่า  ค่าบริการที่ว่า เสียภาษี  แล้วหรือยัง ?
      

นี่คือ "อธิบดีรายวัน"ตัวจริง เสียงจริง หากอยากรู้เส้นทางวิบากกรรมของอธิบดีคนดัง " มติชนออนไลน์"จัดให้แล้ว ณ บัดนี้
     

"ธาริต เพ็งดิษฐ์" เป็นเด็กเรียนดีจากชัยนาท  จังหวัดเดียวกับ"มีชัย ฤชุพันธุ์" มือกฎหมายใหญ่  ธาริต สำเร็จนิติศาสตร์บัณฑิตเกียรตินิยม จากม.ธุรกิจบัณฑิต   (ปี 2525) 2 ปีต่อมาสอบได้เป็นเนติบัณฑิต และคว้าปริญญาโททางกฎหมายจุฬาลงกรณ์ เป็นลูกศิษย์สุดเลิฟของ"อาจารย์ป้อม" ดร.วีระพงษ์ บุญโญภาส    เจ้าพ่อกฎหมายฟอกเงินแห่งจุฬาฯ
    

ในวงการกฎหมาย ต้องถือว่า "ธาริต" เป็นนักกฎหมายที่ฉลาดและเก่งมาก  ข้อเท็จจริงส่วนนี้ไม่มีใครปฎิเสธ  ชีวิตการทำงานเริ่มต้นที่ตำแหน่งอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์
    

จากนั้นก็สอบเป็นอัยการในปี 2532   ได้พบกับ  "วรรษมล"   ที่ปากช่อง จ.นครราชสีมา และกลายเป็นตำนานรัก จนมาถึงทุกวันนี้
    

และที่ปากช่องนี่เองที่"ธาริต-วรรษมล" ได้โอกาสซื้อที่ดินแปลงใหญ่มาไว้ในครอบครองที่จะได้กล่าวต่อไป
     

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ"ธาริต" เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อฝีมือของอัยการหนุ่มเข้าตา"หมอมิ้ง" นพ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รองนายกฯในขณะนั้น จึงได้ถูกชวนไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี  เป็นที่ปรึกษาให้แก่" เดอะกิ้น" พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาใหญ่ของนายกฯทักษิณ
     

ในช่วงรัฐบาลทักษิณ "ธาริต" เป็นหนึ่งในคณะทำงานยกร่างกฎหมายกรมสอบสวนคดีพิเศษ  จะเห็นได้ว่า "ธาริต" อยู่กับ พรรคไทยรักไทย และทักษิณ ได้อย่างดีเยี่ยม
      

จนถึงรัฐบาล"สมชาย วงศ์สวัสดิ์"   ธาริต  ย้ายจากสำนักงานอัยการสูงสุด มานั่งเป็น รองอธิบดีดีเอสไอ.  เป็นความรุ่งเรืองในวิชาชีพที่เพื่อนรุ่นเดียวกัน ตามไม่ทัน
      

แต่ในห้วงเวลาที่ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ นั่งเป็นอธิบดี ดีเอสไอ. และตำรวจพาเหรดเข้ามายึด ดีเอสไอ.   "ธาริต" ได้แวปออกไปร่วมร่างกฎหมายและร่วมจัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.)   และที่สำคัญ เขาได้นั่งเป็น เลขาธิการ ป.ป.ท. ในวันที่  " พ.ต.อ. ทวี  สอดส่อง"นั่งเป็น อธิบดี ดีเอสไอ.
   

 เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว พรรคประชาธิปัตย์ ผงาดขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง    "เดอะตุ๋ย " พีระพันธ์  สาลีรัฐวิภาค นั่งเป็นรมว.กระทรวงยุติธรรม
   

"ธาริต" ในตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ แสดงฝีมือโค่นยักษ์ใหญ่ ล้มตึง เมื่อเขาออกมาแฉว่า วิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข.  ไม่โปร่งใส  เอาเงินกองทุนหลายหมื่นล้านไปลงทุนบนความเสี่ยง ผลก็คือ วิสิฐ จบเห่  "ธาริต" ขึ้นหม้อ   กลายเป็นฮีโร่  ในสายตาข้าราชการทั่วประเทศ
      

กลางตุลาคม 2552   ธาริต เพ็งดิษฐ์    ผงาดขึ้นเป็นอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แทนพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ที่ถูกย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรม (มติครม.29 ก.ย.2552)        แล้ว พลันเสียง วิจารณ์ก็กระหึ่มไปทั้ง ดีเอสไอ.ว่า  ธาริต เป็นสายตรงจาก"อภิสิทธิ์ -สุเทพ เทือกสุบรรณ" ?
   

แต่ถ้ามองโลกให้เป็นจริง "ธาริต" ทำงานให้กับนาย"ทุกคน"  นายจะสีอะไร จะสีเหลือง สีแดง หรือ สีม่วง    ไม่ใช่เรื่องของคนชื่อ"ธาริต"
   

คนที่เคยร่วมงานกับ"ธาริต" บอกว่า ใครได้ ธาริต เป็นลูกน้อง " โคตรโชคดี"  เพราะ เขาเป็นคนที่เก่ง ฉลาด ขยัน และทุ่มเท จนตัวตายเพื่อนาย !!!
    

ฉะนั้น ใครที่บอกว่า ธาริต  รับใช้ ประชาธิปัตย์  ต้องพูดใหม่ให้ถูกว่า ธาริต รับใช้ "นาย" มากกว่า รับใช้พรรค
   

ตัวอย่างของ"มือทำงาน"ที่อุทิศตัวเพื่อนาย ที่ถูกบันทึกในตำนานการเมืองคือ  "นิพัทธ์ พุกกะณะสุต"คนโตแห่งกระทรวงการคลัง  แมวเก้าชีวิตที่อยู่ได้ทุกรัฐบาล   ชั่วโมงนี้ "ธาริต" จะเป็นแมว เก้าชีวิตหรือไม่ ต้องจับตามองกันต่อไปยาวๆ 
    

"ธาริต"เป็นนักกฎหมายที่มีต้นทุนสูง เพราะมีคอนเนกชั่นที่ดีกับทุกพรรคและทุกคน  ในพรรคประชาธิปัตย์ "ธาริต" สนิทกับกูรูใหญ่ปชป. "มารุต บุนนาค" ในวงการกฎหมาย "ธาริต" เป็นศิษย์เอกของ"ศ.ดร.คณิต ณ นคร" เพราะเคยนั่งหน้าห้องอัยการสุงสุด  จนรู้ใจนายเป็นอย่างดี   
  

และที่สำคัญ"ธาริต" รู้ธรรมชาติและนิสัยถาวรของ"นักข่าว" ได้ทะลุว่า นักข่าวต้องการอะไร และนักข่าวอยากรู้อะไร ?
    

ผลงานที่"ธาริต" ทำให้ อภิสิทธิ์-เทพเทือก   มีประสิทธิภาพสูงมาก  ไม่ว่าจะเป็น การตัดท่อน้ำเลี้ยงเสื้อแดง อย่างเบ็ดเสร็จ
    

จะว่าไป เทคนิค ตัดท่อน้ำเสี้ยง ของ"ธาริต" มาจาก อาจารย์ป้อม  ดร.วีระพงษ์ บุญโญภาส  ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ จุฬาฯ และกูรูกฎหมายฟอกเงิน นั่นเอง
    

การแทงความเห็นไม่สั่งฟ้องคดีทีพีไอ.ไซฟ่อนเงิน ของดีเอสไอ.  ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร    เรื่องใหญ่ๆ ร้อนๆ กว่านี้ ดีเอสไอ.ก็ทำมาแล้ว
     

ผลงานรายวันของ"ธาริต" ทำให้ ศัตรูของ"อภิสิทธิ์-เทพเทือก"เดือดดาล และ แค้นเคือง แบบสุดถึงขั้นขู่ปลดถ้าได้เป็นรัฐบาล
     

ความพยายามที่จะโค่น"ธาริต" มาจากทั่วสารทิศ  ปมประเด็นเมียกับปริศนาเงิน 1.5 แสน เป็นเพียง น้ำจิ้ม  จากนี้ไป  จะมีการขุดประเด็นส่วนตัวของ"ธาริตและเมีย" ออกมาอีกเป็นซีรีย์
    

 เร็ว ๆ วันนี้  อาจมีเรื่องที่ดินในนิคมปากช่องที่เขารวบรวมไว้ได้เป็นแปลงใหญ่ในราคาถูก  และกำลังจะขายออกในราคาหลายร้อยล้าน ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่รอการเปิดโปงโดยศัตรูฝ่ายตรงข้ามที่เสียประโยชน์
    

 แต่ถามว่า "ธาริต" กลัวไหมกับเรื่องพรรค์นี้    คำตอบคือ ...ไม่ยี่หระ(ว่ะ) 
   

 " 3  หมอดูชื่อดัง"  ฟันธง ว่า  ดวงชะตา ของธาริต  ดีมาก  จะรุ่งโรจน์และเจริญก้าวหน้า ไปอีกนาน  เหตุนี้เองทำให้ ธาริต ฮึดสู้ไม่ถอย 
    

ปัญหาที่กระทบประโยชน์ส่วนรวม มีเพียงประการเดียวคือ มาตรฐานวิชาชีพของ ดีเอสไอ. นั่นเองที่จะเสื่อมลง
    

"ธาริต" อาจเจริญก้าวหน้ามีอนาคต แต่ดีเอสไอ. จะค่อยๆ  เสื่อมความนิยม และความน่าเชื่อถือ
    

ข้อมูลที่พิสูจน์สมมติฐานนี้ก็คือ คดีที่ส่งออกจาก ดีเอสไอ. ส่วนใหญ่ ไปไม่ถึงศาล  เพราะสำนวนอ่อน อัยการไม่สั่งฟ้อง 
   

นั่นอาจเป็นดัชนีชี้วัด คุณภาพของสำนวนในแฟ้ม ดีเอสไอ.  จากยุคก่อตั้งจนถึงยุค"ธาริต"
   

"ธาริต" เองก็รู้ปัญหานี้ดี  เพราะเขาเป็นคนยกร่างกฎหมายดีเอสไอ.มากับมือ เพียงแต่ว่า เขาจะมีเวลา คิดทบทวนปัญหานี้หรือไม่ ?

                                http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280830982&grpid=&catid=02

--
http://www.classifiedthai.com/event_view.php

อธิการบดีคนใหม่ ภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์



วันที่ 04 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 20:30:00 น.  มติชนออนไลน์

อธิการบดีคนใหม่ ภาพลักษณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ

เดือนกันยายน พ.ศ.2553 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีอธิการบดีคนใหม่ เวลานี้จึงเป็นช่วงของการสรรหาอธิการบดีมหาวิทยาลัยคนใหม่


ผู้เข้ารับการสรรหาล้วนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเป็น อย่างดี เพราะต่างผ่านการศึกษาในระดับสูง มีผลงานด้านการวิจัย มีประสบการณ์การสอน และเคยมีตำแหน่งบริหารทั้งในระดับคณะหรือในระดับมหาวิทยาลัยมาไม่มากก็น้อย


คุณสมบัติตามที่กล่าวมาคงมีไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สิ่งสำคัญคือ ภาพลักษณ์ของอธิการบดีคนใหม่กับภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นไปใน ทิศทางเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากรากเหง้าที่มาและตัวตนของมหาวิทยาลัยที่ครั้งหนึ่งเคยชื่อว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง จึงจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง


โดยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำเนิดขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2477 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยเพียง 2 ปี นอกจากนี้ผู้ก่อตั้งหรือผู้ประศาสนการคือนายปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นหัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือน ที่เป็นมันสมองของคณะราษฎร มีความมุ่งหมายในการก่อตั้งว่า "มหาวิทยาลัย ย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร์ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมี ควรได้รับตามหลักเสรีภาพในการศึกษา"


ดังนั้นแรกเริ่มเดิมที มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเป็นมหาวิทยาลัยเปิด ที่ใครๆ ก็สามารถทำงานด้วยเรียนไปด้วยได้ ลูกคนยากคนจนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้กำเนิดขึ้นก็สามารถพลิกผันชีวิตตนเองจนได้เป็นธรรม ศาสตรบัณฑิต กลายเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง ได้กลับมาช่วยเหลือคนยากคนจนก็มีให้เห็น


มหาวิทยาลัยแห่งนี้ผลิตนักคิดนักเขียน นักการเมืองที่กล้าท้าทายอำนาจเผด็จการ นักต่อสู้เพื่อคนยากคนจำนวนไม่น้อย


หลายเหตุการณ์ทางการเมืองที่มหาวิทยาลัยเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นขบวนการเสรีไทย กบฏวังหลวง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเหตุการณ์อื่นๆ อีกหลายเหตุการณ์ ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ยืนอยู่เคียงข้างประชาชนเสมอมา ดังคำขวัญที่คุ้นๆ กันอยู่เสมอว่า "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" (กุหลาบ สายประดิษฐ์)


นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังมีภาพลักษณ์เป็นมหาวิทยาลัยที่เคียงคู่และต่อสู้ เพื่อความยุติธรรมให้กับประชาชน ดังคำขวัญที่ว่า "หากขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์ ก็เหมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์" (เปลื้อง วรรณศรี)


ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยสอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน ทุกครั้งเมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อน ในอดีตมหาวิทยาลัยแห่งนี้ไม่เคยนิ่งดูดาย


วาระที่ พ.ศ.2553 เป็นวาระครบรอบ 110 ปี ชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ มีคำขวัญที่คุ้นหูว่า "110 ปี ความดีไม่สูญหาย" เวลาที่ผ่านไปพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้ต้องพบรักมรสุมทางการเมืองด้วยการถูกใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา จนไม่อาจอยู่บนผืนแผ่นดินไทยที่รักของท่านได้ก็ตาม แต่เวลาได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า "110 ปี ความดีไม่สูญหาย" จริงๆ


มีคนจำนวนไม่น้อยตระหนักและเห็นความสำคัญของท่าน ที่ต้องการให้ประเทศชาติเกิดความเจริญก้าวหน้า สามารถธำรงปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับประชาชน


นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเป็นเวลากว่า 70 ปี เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรมเสมอมา ตลอดจนการต่อต้านการใช้อำนาจเผด็จการแม้แต่คราวที่มหาวิทยาลัยถูกทหารยึดใน สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ตาม แต่ในที่สุดด้วยพลังของความสามัคคี นักศึกษาก็สามารถยึดมหาวิทยาลัยกลับคืนมาได้


ด้วยที่มาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่เป็นมหาวิทยาลัยของคนทุกชนชั้น และมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชน ดังนั้น เพื่อรักษาภาพลักษณ์และภาระหน้าที่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้พึงมี การสรรหาจนกระทั่งได้ตัวอธิการบดีคนใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงไม่อาจได้เพียงผู้มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว หรือเพียงบริหารมหาวิทยาลัยได้เก่ง ได้ดีเท่านั้น


นั่นคืออธิการบดีต้องทำให้มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นเหมือนบ่อน้ำที่ บำบัดความกระหายของราษฎรเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ข้างประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งด้วยการมุ่งผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถ มีจิตสำนึกแบบประชาธิปไตย มุ่งรับใช้ประชาชน แม้ท่ามกลางความเปลี่ยนไปของสังคมในวันนี้ ที่กระแสทุนนิยมเข้าครอบงำวิถีชีวิตผู้คนที่ทำให้เห็นเงินเป็นใหญ่ แต่ภาระของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ การสร้างจิตวิญญาณให้กับเยาวชนคนหนุ่มสาวเหล่านี้ให้ได้


ดังนั้น คนเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงต้องมีสัญญาประชาคม ที่ต้องนำพามหาวิทยาลัยให้เป็นบ่อบำบัดความกระหายของราษฎร และเป็นสถาบันทางการศึกษาที่มีหน้าที่ปลูกปั้นปัญญาให้แก่ผู้คนในสังคม


รวมทั้งการปกป้องธำรงรักษาการปกครองระบอบประชาธิปไตย เหมือนดั่งเจตนารมณ์ของผู้ประศาสน์การ และอยู่เคียงข้างประชาชนทุกชนชั้นอย่างแท้จริง


แต่บทบาทท่าทีของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ทั้งการใช้ความรุนแรงกับประชาชน การที่ประเทศต้องตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินอธิการบดีไม่ได้แสดงท่าทีของการอยู่ เคียงข้างประชาชน หรือปกป้องสิทธิมนุษยชน ให้สมกับที่เป็นผู้นำสถาบันการศึกษาที่ควรเป็นเสาหลักของการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยแต่อย่างใด


ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบันแทบไม่มีบทบาทของมหาวิทยาลัย ของคนทุกชนชั้น และเป็นที่พึ่งของประชาชน ทั้งที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นผลผลิตของคณะราษฎร และการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475


ภาพลักษณ์ดังกล่าวของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน จึงเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่สอดคล้องกับการกำเนิดและบทบาทของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในอดีต


ดังนั้น ในวาระที่จะมีอธิการบดีคนใหม่ หากการสรรหาแล้วได้บุคคลที่มีทั้งความรู้ความสามารถด้านวิชาการ การบริหาร และมีภาพลักษณ์ของความเป็นนักประชาธิปไตย และมีความรักต่อประชาชนโดยเฉพาะคนยากคนจนแล้ว


อธิการบดีคนใหม่คงเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนธรรมศาสตร์ และคนในสังคมได้อย่างไม่อายใคร

                                http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280915052&grpid=&catid=02

--
http://www.classifiedthai.com/event_view.php

รมช.เกษตรชงครม.ของบฯเพิ่มเป็น 8 พันล้าน ปลูกยางเฟส 2 อ้างปรับเงื่อนไขแจกปุ๋ยฟรี 7 ปี "สุเทพ"ไฟเขียวแล้ว


ศุภชัย โพธิ์สุ

วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2553 เวลา 04:26:05 น.  มติชนออนไลน์

รมช.เกษตรชงครม.ของบฯเพิ่มเป็น8พันล้าน ปลูกยางเฟส2 อ้างปรับเงื่อนไขแจกปุ๋ยฟรี7ปี "สุเทพ"ไฟเขียวแล้ว

รมช.เกษตรฯเตรียมขอเพิ่มงบฯปลูกยางพาราเฟส 2 จาก 3.9 พันล้านเป็น 8 พันล้าน อ้างปรับเงื่อนไขแจกปุ๋ยฟรีจาก 3 ปีเป็น 7 ปี พร้อมช่วยค่าแรงช่วงเพาะปลูกให้เกษตรกรยากจน ดันเข้า ครม.อีกครั้ง เล็งใช้เงินกู้จากธกส.

 


นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย"มติชน" เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ร่วมหารือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หารือถึงแนวทางการดำเนินงานโครงการขยายพื้นปลูกยางพารา ระยะที่ 2 จำนวน 800,000 ไร่ ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ซึ่งทุกคนมีความเห็นร่วมกันที่จะผลักดันการดำเนินงานโครงการนี้ ให้เกิดขึ้นภายในรัฐบาลชุดนี้ให้ได้ เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่มีฐานะยากจนให้ลืมตาอ้าปากได้จากการปลูกยาง ซึ่งให้ผลผลิตตอบแทนสูงคุ้มค่ากับการลงทุน


"สำหรับรูปแบบการดำเนินงานโครงการ ยังกำหนดจำนวนเป้าหมายเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการไว้เหมือนเดิม คือ จำนวน 80,000-160,000 ราย แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 150,000 ไร่ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่เคยปลูกยางมาก่อน และมีที่ดินประมาณ 2-15 ไร่ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนต้นกล้ายางให้ 90 ต้นต่อไร่" นายศุภชัยกล่าว


นายศุภชัยกล่าวว่า เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการเพาะปลูกในปีแรก ไปจนถึงสามารถกรีดยางได้ในช่วงปีที่ 7 นอกเหนือจากจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรในทุกช่วงเวลาของการเพาะปลูกแล้ว ในส่วนของปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือ ปุ๋ย ซึ่งแจกฟรีให้แก่เกษตรกรจะมีการเพิ่มจำนวนให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก จากเดิมกำหนดให้แจกจ่ายเพียง 3 ปี จะเพิ่มมาเป็น 7 ปี และในช่วงการเพาะปลูกจะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือค่าแรงในการปลูกให้กับเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการ ไร่ละประมาณ 3,000 กว่าบาทด้วย


"เหตุผลที่เราปรับเพิ่มเงื่อนไขการช่วยเหลือเกษตรกรที่เข้าร่วม โครงการ เป็นเพราะเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายจะต้องเป็นเกษตรกรที่มีฐานะยากจน และไม่เคยปลูกยางมาก่อน ดังนั้น จะต้องได้รับการดูแลมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้เรื่องการเพาะปลูก ปัจจัยการผลิต รวมถึงการให้เงินช่วยเหลือ เพื่อให้กล้ายางที่เกษตรกรรับไปปลูกมีปัญหาเกิดขึ้นน้อยที่สุด" รัฐมนตรีช่วยฯเกษตรฯระบุ


นายศุภชัยกล่าวว่า ผลจากการปรับปรุงเงื่อนไขการดำเนินงานเพิ่มเติมเหล่านี้ จะทำให้ตัวเลขงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการมีจำนวนสูงขึ้น จากตัวเลขเดิมที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.มาแล้ว 3,900 ล้านบาท เพิ่มเป็น 8,000 ล้านบาท ทำให้จะต้องมีการนำเสนอรายละเอียดส่วนนี้กลับเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ ในส่วนที่มาของงบประมาณที่จะนำมาใช้ขณะนี้มีความชัดเจนแล้วว่าจะใช้วิธีการ กู้เงิน เนื่องจากได้รับแจ้งจากการคลังว่างบกลางปีนี้ถูกจัดสรรไปหมดแล้ว โดยเบื้องต้นกระทรวงการคลังจะทำเรื่องขอกู้เงินโดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานโครงการ  


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ที่อนุมัติให้ดำเนินงานโครงการขยายพื้นที่เพาะปลูกยางดังกล่าว ปรากฏว่า ไม่ได้ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายให้กับเกษตรกรในการเพาะปลูกยางแต่อย่างใด โดยงบประมาณที่เสนอเข้ามา ทั้งหมด 3,974.56 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าพันธุ์ยาง และปุ๋ย ที่จะแจกจ่ายให้เกษตรกร 2,823.20 ล้านบาท ค่าฝึกอบรมเกษตรกรตลอดโครงการ 800 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการโครงการ 351.36 ล้านบาท ของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)

                              http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1280957353&grpid=01&catid=no
--
http://www.classifiedthai.com/event_view.php

แขนวิเศษ

วันที่ 05 สิงหาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7189 ข่าวสดรายวัน


แขนวิเศษ





ยู น วู กึน นักวิทยาศาสตร์ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมขั้นสูงและเทคโนโลยีญี่ปุ่น ดื่มน้ำจากถ้วยที่อยู่ในมือของแขนกลสำหรับผู้พิการ รุ่น "ราพูดา" ในระหว่างสาธิตการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมบริการ เหมาะสำหรับเอาไว้ติดตั้งในรถเข็น ที่นิทรรศการโรโบ กรุงโตเกียว


หน้า 28



http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdOVEExTURnMU13PT0=&sectionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBeE1DMHdPQzB3TlE9PQ==

--
http://www.classifiedthai.com/event_view.php

บูรพาพยัคฆ์






บูรพาพยัคฆ์


คอลัมน์ คอลัมน์ที่13



"บูรพาพยัคฆ์" คือชื่อเรียกนายทหารที่รับราชการ หรือเคยผ่านการรับราชการในหน่วยกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.)

อันเป็นหน่วยที่ดูแลกองกำลังบูรพา รับผิดชอบพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออก

ซึ่งกองทัพประเมินว่าชายแดนด้านตะวันออกที่ติดกับพื้นที่ประเทศกัมพูชาเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของประเทศ

ชื่อ บูรพาพยัคฆ์มีที่มาจากรากศัพท์จากฐานทัพที่กองทัพใช้หน่วยทหารต่างๆ เผชิญหน้าการสงครามระหว่างที่กัมพูชามีปัญหาความขัดแย้ง "เขมร 4 ฝ่าย" สมัยปี พ.ศ.2522

พล.ร.2 รอ. ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เป็นหน่วยทหารรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

เป็นกองพลทหารราบยานเกราะ กองพลเดียวในประเทศไทย

มีหน่วยขึ้นตรงภายใต้บังคับบัญชา ประกอบด้วย

กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) ค่ายจักรพงษ์ จ.ปราจีนบุรี

กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์ (ร.12 รอ.) ค่ายไพรีระย่อเดช จ.สระแก้ว

กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) (ทหารเสือราชินี) ค่ายนวมินทราชินี "ทหารเสือราชินี" จ.ชลบุรี

กรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 รักษาพระองค์ (ป.2 รอ.) ค่ายพรหมโยธี จ.ปราจีนบุรี

รวมถึง

กอง พันทหารม้าที่ 30 รักษาพระองค์ (ม.พัน.30 รอ.) กองพันทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (ม.พัน.2 รอ.) กองพันทหารช่างที่ 2 รักษาพระองค์ (ช.พัน.2 รอ.) กองพันทหารสื่อสารที่ 2 รักษาพระองค์ (ส.พัน.2 รอ.)

ในอดีตเคย มีนายทหารคนสำคัญ ที่เคยเติบโตมาจาก พล.ร.2 รอ. เช่น พล.อ.ศัลย์ ศรีเพ็ญ อดีตรองผบ.ทบ. พล.อ.ชัยณรงค์ หนุนภักดี อดีตรองผบ.สส. พล.อ.นิพนธ์ ภารัญนิตย์ อดีตรองผบ.ทบ. พล.อ.อาชวินทร์ เศวตเศรณี อดีตแม่ทัพน้อยที่ 1

แต่บางคนไม่ได้ก้าวขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 แต่เคยวนเวียนรับราชการคุมกำลังในพื้นที่นี้มาก่อน

เช่น พล.อ.วัฒนา สรรพานิช อดีตรองผบ.สส. และพล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร อดีตผบ.ทบ.

หรือ อดีตยังเติร์กคนดัง "วีรบุรุษตาพระยา" พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร อดีตผู้การกรม 2 ค่ายจักรพงษ์ ถ้าอนาคตไม่วูบไปกับเหตุการณ์เมษาฮาวาย ก็มีสิทธิ์คั่วเก้าอี้ผบ.พล.ร.2 ในยุคนั้นเหมือนกัน

สำหรับนายทหารที่มีตำแหน่งสำคัญในปัจจุบัน ที่เคยผ่านเส้นทางเติบโตจากบูรพาพยัคฆ์ได้แก่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผบ.ทบ. พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.อุดมเดช สีตบุตร รองแม่ทัพภาคที่ 1 พล.ต.ธีรชัย นาควานิช รองแม่ทัพภาคที่ 1

โดยมี พล.ต.วลิต โรจนภักดี เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. คนปัจจุบัน

ทั้ง พล.อ.อนุพงษ์ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.ท.คณิต มีส่วนเป็นกำลังสำคัญในการทำรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2549

รวมทั้งยังถือเป็นขั้วอำนาจสำคัญทางฝ่ายทหาร ที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะด้วย

นอกจากเส้นทางการเติบโตมาจากสายบูรพาพยัคฆ์ พล.อ. อนุพงษ์และพล.อ.ประยุทธ์ยังเป็นกลุ่มนายทหารที่ผ่านเส้นทางของ "ทหารเสือราชินี"

คือเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์มาแล้วด้วย

บูรพาพยัคฆ์ผงาดคุมอำนาจกองทัพบกติดต่อกันมาหลายปี

และน่าจะต่อเนื่องไปอีกหลายปี


หน้า 6
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3hNREExTURnMU13PT0=&sectionid=TURNd013PT0=&day=TWpBeE1DMHdPQzB3TlE9PQ==



--
http://www.classifiedthai.com/event_view.php



--
http://www.classifiedthai.com/event_view.php

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553

"บ้านกึ่งวิถี" พัฒนาทักษะเด็กพิการซ้อน

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7048 ข่าวสดรายวัน


"บ้านกึ่งวิถี" พัฒนาทักษะเด็กพิการซ้อน


คอลัมน์ ทั่วถิ่นไทย

สถิรา ปัญจมาลา ประชาสัมพันธ์ ศูนย์สารนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ.



ด้วยความตระหนักว่า นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการเห็นและพิการซ้อนจะเป็นเด็กที่มีพัฒนาการช้า และแตกต่าง กันมาก มีศักยภาพการเรียนรู้ทักษะด้านวิชาการต่ำ ควรจะได้รับการพัฒนาและเตรียมความพร้อมทักษะการดำรงชีวิตประจำวัน สามารถเรียนรู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง และสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมครอบครัวอย่างมีความสุข

โรงเรียนสอนคน ตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดย ครูศิริพร ตันทโอภาส จึงได้จัดโครงการ บ้านกึ่งวิถี (The Half-Way House Program) ขึ้นตั้งแต่ปี 2549 จนถึงขณะนี้ซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 มีเด็กอยู่ในโครงการเป็นนักเรียนหญิง 6 คน

โรงเรียนได้จัดหาบ้าน เช่าลักษณะทาวน์เฮาส์ 1 หลัง ซึ่งมีราคาเดือนละ 6,000 บาท อยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณ 200 เมตร เพื่อให้เด็กที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 6 คน ที่เป็นผู้บกพร่องทางการเห็นและพิการซ้อน ใช้ชีวิตประจำวันร่วมกัน และมีผู้ดูแลความเรียบ ร้อยภายในบ้าน

ตื่นเช้าหลังจากจัดการธุระส่วนตัวทั้ง 6 คน จะเดินไปโรงเรียนพร้อมกันโดยไม่ใช้ไม้เท้าหรือผู้นำทาง (จะมีครูคอยดูอยู่ห่างๆ) เพื่อเข้าเรียนวิชาพื้นฐานและฝึกประกอบอาชีพหารายได้ระหว่างเรียนในห้อง เรียน

หลังโรงเรียนเลิกและวันหยุดเด็กจะแบ่งเวรกัน ทำความสะอาดบ้าน ซักผ้ารีดผ้า หุงข้าว ฯลฯ โดยมีครูคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

สาเหตุที่โครงการบ้านกึ่งวิถี สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ก็เพราะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก The Hilton/ Perkins Program ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งพึงพอใจและชื่นชมผลการ จัดกิจกรรมที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแบบอย่างที่ดีในภูมิภาคนี้

ความพิการที่มีมาแต่กำเนิด มักจะเป็นความทุกข์ทรมานของผู้ที่เกิดมา รวมไปถึงบิดามารดา และครอบครัว ซึ่งผู้พิการแต่ละราย จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูให้สามารถอยู่ในสังคมปกติ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ เพื่อให้ตนเองเป็นภาระแก่สังคมน้อยที่สุด

นั่นคือจุดมุ่งหมายสำคัญของโครงการบ้านกึ่งวิถี


หน้า 30


--
โปรดอ่านบล็อก
http://www.pridiinstitute.com
http://www.nakkhaothai.com
http://apps.facebook.com/blognetworks/index.php
http://www.roundfinger.com/
http://twitter.com/sweetblog
http://twitter.com/oknewsblog
http://twitter.com/okblogger
http://twitter.com/sat191
http://www.pacc.go.th/
http://twitter.com/okblogchan
http://twitter.com/sun1951
http://twitter.com/smeblogger
http://twitter.com/seminarblog
http://twitter.com/sunnewsblog
http://twitter.com/okworldblog
http://twitter.com/ktblogger
http://twitter.com/sundayblog
http://twitter.com/mondayblog
http://twitter.com/tuesdayblog
http://twitter.com/wednesdayblog
http://twitter.com/thursdayblog
http://twitter.com/fridayblog
http://twitter.com/saturdayblog
http://www.deepsouthwatch.org/node/687
http://www.tu.ac.th/org/ofrector/tu_council/record/nopporn.htm
http://www.visalo.org/

วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Facebook | นที สรวารี: โรงเรียนข้างถนน คนสนามหลวง

Facebook | นที สรวารี: โรงเรียนข้างถนน คนสนามหลวง

โรงเรียนข้างถนน คนสนามหลวง

เคยนับเล่นๆ ดูไหมว่าเดินผ่านสนามหลวงปีหนึ่งกี่ครั้ง นั่งพักให้หายเหนื่อยกี่หน เชื่อแน่ว่าหลายคนใช้พื้นที่นี้เป็นทางผ่าน แต่อีกหลายร้อยชีวิต ท้องสนามหลวงเรียกได้ว่าเป็น “บ้าน” แม้จะมีคำถามอยู่บ้างว่าอะไรที่ทำให้คนเหล่านี้เลือกหันหลังออกจากครอบครัว ออกสู่ถนน เพราะความล้มเหลวเชิงนโยบายและโครงสร้างสังคม เพราะสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัดใช่หรือไม่ หรือเพียงเพราะพวกเขาต้องการมีพื้นที่แห่งความสุขเท่านั้น

คนมีสตางค์สามารถเจอะเจอเพื่อนใหม่ๆ ได้ตามผับ เธค บาร์ หรือร้านอาหาร แล้วนั่งดริงก์สร้างสัมพันธ์ แต่คนยากคนจนมักจะมีที่พบปะเป็นริมถนน คนละกั๊กคนละแบนก็มีความสุข เฮฮากัน ทว่าบางคนถูกพันธนาการด้วยคำสัญญาที่หวังว่าเพื่อนจะมาหาอีก จากวันเป็นเดือน จนเคลื่อนเป็นปี กระทั่งเสพติดกับพื้นที่จนกลายเป็นคนสนามหลวงอย่างเต็มตัว

**เสน่ห์และความจริงที่สนามหลวง

สำหรับผู้ชายคนหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดในบริเวณสนามหลวงเมื่อ 3 ปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่สนามหลวงและคลอง หลอดอย่างจริงจัง...

นที สรวารี หรือ ครูเอ็กซ์ ในฐานะนายกสมาคมกิจกรรมสร้างสรรค์อิสรชน เล่าย้อนไปในคืนที่ฟ้าห่มผ้าลายดวงดาวขาว-ดำเมื่อ 3 ปีก่อนว่า หลังจากเหนื่อยอ่อนจากการลงพื้นที่ทำงานกับเด็กเร่ร่อนในต่างจังหวัดแล้ว แวะพักเหนื่อยที่สนามหลวงและเผลอหลับขณะที่ข้าวของอย่างโทรศัพท์มือถือ ตลอดรวมถึงกระเป๋าสตางค์ยังวางแบะที่หน้าอก คำพูดที่ว่าหากมาสนามหลวงของมีค่าหายไม่มีเหลือแน่เหมือนจะปลุกให้ตนเอง ตื่นขึ้นมา

แต่สิ่งที่ เห็นเมื่อลืมตาพบก็คือมีชายแก่คนหนึ่งนั่งพัดปัดยุงและจุดยากันยุงให้ นี่เองทำให้ค้นพบคำตอบและอยากจะบอกให้คนอื่นๆ ได้เห็นแบบเดียวกันว่า นี่คือเสน่ห์เล็กๆ ของอีกมุมเมือง หากแต่ใส่ใจดูสักเพียงนิด

“สถานการณ์ของคนสนามหลวงตอนนี้จะมีตั้งแต่กลุ่มคนที่มีบ้านแต่ไม่ อยากอยู่เพราะไม่มีความสุข อีกกลุ่มหนึ่งคือครอบครัวมีฐานะ แต่อาจจะเหงา เมื่อเขามาแถวนี้แล้วพบว่าคนที่นี่มีความเอื้อเฟื้อในความรู้สึกของเขา อาจจะด้วยการพูดคุย ร้องเพลงเฮฮา ก็ตัดสินใจมาอยู่ นอกจากนี้ยังมีคนที่เข้ามาทำงานแล้วถูกหลอก ไม่รู้จะไปไหน สนามหลวงก็เป็นที่พักสุดท้าย”

“คน ที่ใช้พื้นที่คลองหลอดสนามหลวงมี 2- 3 ส่วนคือกลุ่มของผู้ขายบริการทั้งผู้หญิงและผู้ชายตลอด 24 ชั่วโมงมี 800-1,000 คน คนเร่ร่อนไร้บ้านมีไม่น้อยกว่า 50-80 ครอบครัว โดยเฉลี่ยแล้วจะมีคนเร่ร่อนในละแวกนี้ไม่น้อยกว่า 200-300 คน ยังไม่รวมถึงคนที่มาแบบเดี่ยวๆ รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 500 คน ตัวเลขค่อนข้างเยอะและไม่นิ่งตายตัว” ครูเอ็กซ์เล่า

**เรียนรู้ชีวิตจากครูข้างถนน

ครูเอ็กซ์บอกว่า ในระยะแรกๆ สมาคมฯ เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มคนในพื้นที่คลองหลอดสนามหลวงให้ห่วงใยสุขภาพและคุณภาพ ชีวิตมากขึ้น จากนั้นเริ่มส่งครอบครัวเร่ร่อนให้ได้กลับบ้าน ทั้งระดมทุนให้เดินทางกลับเอง ติดต่อญาติให้มารับ หรือประสานงานกับนายจ้างเพื่อหาวิชาชีพให้

ขณะเดียวกันสมาคมฯ พยายามที่จะผลักดันและเปิดโอกาสกับทุกคนในสังคมที่อยากใช้เวลาว่างเรียนรู้ รูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากปกติวิสัย โดยการสมัครเป็นอาสาสมัคร ใช้เวลาหนึ่งวันตั้งแต่เช้าจดค่ำลงพื้นที่บริเวณคลองหลอดสนามหลวง ศึกษาการใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มคนไร้บ้าน คนอิสรชนเรียกกิจกรรมนี้ว่า “โรงเรียนข้างถนน”

“ไม่ต้องมานอนค้าง แค่มาเรียนรู้มากินข้าวแกงจานละ 10 บาทข้างถนนกับคนสนามหลวง มาเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วยความสงบ ปราศจากอคติ บางคนอาจจะตั้งคำถามก็ได้ว่าทำไมคนกลุ่มนี้จึงต้องดื่ม พวกเขาพูดเรื่องอะไรกัน บรรยากาศการพูดคุยเป็นอย่างไร แล้วจะพบว่าคนเล็กๆ กลุ่มนี้ แม้ภายนอกจะดูคล้ายกับคนกร้าวร้าว น่ากลัว แต่จริงๆ แล้วมีความเกื้อกูลกันแฝงอยู่ ซึ่งนี่เองคือสิ่งที่อิสรชนเพียรบอกกับอาสาสมัคร ซึ่งมีทั้งนักศึกษา นักเรียน และคนทำงาน” ครูเอ็กซ์ของชาวสนามหลวงให้ภาพ

**เปิดใจนักเรียนข้างถนน

และวันที่บรรดาครูผู้ยึดคลองหลอดเป็นบ้านจะเปิดประตูต้อนรับนักเรียนที่จะมาศึกษาบทเรียนชีวิตจากพวกเขาก็มาถึงอีกครั้ง...

“ตอนแรกก็กลัวเลยแหละ แต่พอได้เข้ามาคุยก็รู้สึกดีขึ้น เห็นว่าชีวิตเขาเจออะไรที่โหดร้ายมาเยอะ แต่ว่าก็ยังไม่สนิทใจเพียงพอที่จะกล้ามาเดินแถวสนามหลวงคนเดียว...” นี่คือคำกล่าวของ ติ๊ก-สุดาวรรณ ผาสุข นักศึกษาปริญญาโท สาขานิเทศศาสตร์พัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนี้ติ๊กมาลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลคนเร่ร่อน เธอบอกว่าเพิ่งจะมาคลองหลอดสนามหลวงอย่างจริงจังเป็นครั้งที่ 2 เท่านั้น ความหวาดหวั่นผ่านคำบอกเล่าจึงมีอยู่ให้เห็น ทว่าแววตาที่มองไปยังคนเร่ร่อนไร้บ้านก็ยังมีความอาทรแฝงอยู่นัยน์ตาคู่ นั้นเช่นกัน

“ครั้งนี้มาศึกษาข้อมูลการกลับบ้านของคนเร่ร่อน แล้วก็ได้ข้อคิดดีๆ กลับบ้านไปด้วย เมื่อฟังคนเร่ร่อนได้เล่าเรื่องตัวเอง รู้สึกว่าพวกเขามีความภูมิใจในตัวเองที่อย่างน้อยยังมีคนรับฟังเรื่องราว ทั้งดีหรือไม่ดีของพวกเขา เพราะอย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองพอจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นอยู่บ้าง” นักศึกษาปริญญาโทพูดเมื่อเราเดินผ่านกลุ่มคนไร้บ้านออกมา

อัจฉรา อุดมศิลป์ หรือ น้องจ๊ะจ๋า นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในอาสาสมัครที่คุ้นเคยกับคนสนามหลวงเป็นอย่างดี เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ได้มาลงพื้นที่ว่า ได้เข้ามาฝึกงานตั้งแต่เรียนปี 2 ในครั้งแรกที่ได้เจอกับกลุ่มคนไร้บ้านจะรู้สึกกลัว เกรงว่าจะมีอันตราย ครอบครัวก็ไม่เห็นด้วยกับการลงมาทำงานกับคนกลุ่มนี้ แต่เมื่อได้มาสัมผัสในทุกด้านแล้ว ความเกรงกลัวถูกทลายด้วยรอยยิ้มของคนคลองหลอด-สนามหลวง

“พี่ ที่สมาคมอิสรชนรับรองความปลอดภัยให้ แต่ภาพในความคิดของเรามันยังอันตรายอยู่ แม่ก็เป็นห่วง วันแรกที่มาเกรงๆ กลัวๆ ไม่รู้จะพูดหรือทำอะไรไป ถ้าผิดแล้วจะถูกทำอะไรรึเปล่า แต่พอได้ลงพื้นที่บ่อยๆ ก็พบว่าคนไร้บ้านก็มีความน่ารัก มีเสน่ห์ บางทีเราก็ได้ข้อคิดจากพวกเขา เพราะเขาผ่านอะไรมามาก ทำให้เราหันกลับไปมองตัวเองมากขึ้น มองคนที่เรารักที่บ้านมากขึ้นว่าเคยทำผิดอะไรหรือเปล่า เพราะบางเรื่องที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ทำให้บางคนสะเทือนใจจนเป็นแรงผลักให้ออกมาเป็นคนเร่ร่อนก็ได้”

จ๊ะจ๋า เล่าว่า เมื่อเธอหายไปและกลับมาเยี่ยมคนเหล่านี้อีกครั้ง จะมีคำไถ่ถามเช่นญาติผู้ใหญ่ที่ทักทายลูกหลาน บ้างก็ว่าผอมลง อ้วนขึ้น แล้วก็เริ่มเล่าเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ฟัง

“การได้มาเยี่ยม มาคุย ทำให้เห็นว่าคนไร้บ้านอยู่อย่างไร กินอย่างไร ใครไม่สบาย หรือต้องการความช่วยเหลือ เวลาที่ได้กินอาหารดีๆ ก็จะนึกถึงเขา เห็นอะไรก็จะเอาไปเล่าให้แม่ฟัง ปรับทัศนคติที่บ้านได้ด้วย จากที่เขารู้สึกไม่ดีก็ไม่ได้ดูถูกหรือเกลียดชังแล้ว”

จ๊ะจ๋าทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกว่า อย่ามองคนแต่เพียงภายนอก จริงอยู่ว่าคนกลุ่มนี้มีส่วนหนึ่งที่เกเร แต่ในสายตาคนนอกต้องเข้าใจว่าชีวิตของพวกเขาอาจจะผ่านสิ่งที่เลวร้ายอย่าง ไม่น่าเชื่อมา จึงต้องมีเกราะป้องกันตัวเองให้ดูเข้มแข็งจนบางครั้งดูกร้าวร้าว หากได้มาลองฟังเรื่องของพวกเขาเพียงสักครั้งจะทำให้ยอมรับในการต่อสู้ชีวิต และหวนคิดว่าหากเป็นเราจะสู้ได้เท่าที่เขาสู้หรือไม่

และกลุ่มสุดท้ายที่ร่วมลงพื้นที่สนามหลวงคลองหลอดครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนสตรีวัดระฆัง น้องลูกน้ำ-พรทิวา แก้วนาเคียน ตัวแทนเพื่อนๆ อีก 10 คนเล่าว่า เริ่มเก็บข้อมูลและขอลงพื้นที่กับกลุ่มอิสรชนตั้งแต่ช่วงปีใหม่ แต่ยังไม่กล้าลงมาพูดคุยอย่างกล้าหาญเช่นครั้งนี้

“ครั้งแรกเราก็ไม่ได้คุยกับใครเพราะเราก็เหมือนคนแปลกหน้าสำหรับเขา เขาไม่ไว้วางใจ เราก็กลัว แต่ว่าพอมาคุยกับป้าๆ ที่นี่ รู้สึกว่ารักแม่มากกว่าเดิม ถ้ามีครอบครัวถ้าไม่เอาใจใส่ก็จะเจอสภาพปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น และถ้าเอาใจใส่มากไปเขาก็อาจจะอึดอัดจนหนีออกมาก็ได้ ทุกอย่างต้องอยู่บนความพอดี เห็นได้ชัดว่าทัศนคติของพวกเราเปลี่ยนไป เข้าใจมากขึ้นว่าคนเร่ร่อนบางคนมีความจำเป็นที่จะต้องมาอยู่ที่นี่ พวกเขาคงไม่มีความสุขเท่าไหร่นัก แต่ที่นี่คงปลอดภัยสำหรับเขาจริงๆ” น้องลูกน้ำพูดยิ้มๆ

**คำให้การคนไร้บ้านบางส่วนเสี้ยว

ณ วันนี้ตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมา กลุ่มสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชนได้ประสานงานให้คนเร่ร่อนได้กลับบ้านไปแล้ว 9 ครอบครัว ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรายงานว่าจะหวนกลับมาที่คลองหลอดสนามหลวงอีก แต่มีบางครอบครัวที่หวนกลับมาใช้ชีวิตในพื้นที่นี้อีก เนื่องจากพวกเขาสูญเสียแก้วตาดวงใจไป

โจ้ และ อุ้ม หนุ่มสาวชาวสกลนครหน้าซื่อ ร่างกายของโจ้ผอมกะหร่อง สองขาที่ดูไร้เรี่ยวแรงยืนขายภาพวาดให้กับผู้มาถวายสักการะสมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เขากลับมาเป็นคนสนามหลวงอีกครั้งหลังจากที่ลูกสาววัย 4 เดือนเสียชีวิตด้วยไข้มาลาเรีย หลังจากตัดสินใจลาขาดสนามหลวงเพื่อไปทำงานที่กระบี่ แต่จนแล้วจนรอดเขาและภรรยาก็หนีวงเวียนนี้ไม่พ้น วันนี้โจ้บอกว่าเขาอยากจะเก็บเงินให้ได้เพียงพอที่จะจับรถไปกระบี่แล้วไปขอ ใบมรณะบัตรลูกสาว แล้วค่อยไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อใด

ป้าพร อดีตสาวเชียงใหม่ที่วันนี้ตั้งหลักปักฐานบนพื้นที่คลองหลอดไปแล้วเต็มตัว ใบหน้าที่มีเค้าโครงความงามเมื่อครั้งสาวรุ่น เล่าด้วยน้ำตานองหน้าถึงอดีตที่ผ่านมา การระเห็จออกจากบ้านไปอยู่อุดรธานีตั้งแต่แรกสาว 18 เพราะความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในครอบครัว ป้าพรตัดสินใจขายบริการ จนกระทั่งได้พบพ่อของลูกสาว 2 คนในปัจจุบัน หลังจากสามีเสียชีวิต และอีกหลายเหตุผลที่ทำให้ป้าพรกลายเป็นคนเร่ร่อน และป้าพรก็เป็นคนหนึ่งที่กลับบ้านแล้วกลับมาอีก

“ป้า เลิกขายบริการเพราะสามีที่ดี เราสองคนย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ และเลี้ยงลูกสาว 2 คนจนโต วันนี้ลูกสาวคนโตทำงานในบริษัทเอกชน คนเล็กเรียนปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เวลาที่นักเรียนมาเยี่ยม เอาขนมหรือหายามาให้ทำให้เราคิดถึงลูกนะ แต่ว่าถ้าเราไปอยู่ที่บ้านมันก็ไม่มีความสุข เพราะเขารักเรามากเกินไป ต้องกินเหมือนลูก ไปไหนกับลูก เวลาเขาไปทำงานเขาก็จะล็อกประตูจากด้านนอก ป้าไปไหนไม่ได้ มันเหงา สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาอีก วันนี้ยังอยากให้ลูกมาเยี่ยมบ้าง แต่ถามว่าจะให้กลับไปอยู่ด้วยอีกไหม ยังไม่รู้ เพราะอยู่นี่ป้าก็มีความสุขดี” มือหนึ่งปาดน้ำตา อีกมือหนึ่งป่ายเปะปะหาที่ยึดเหนี่ยวพอให้ร่างซูบผอมนั้นมั่นคง

ครอบครัวล่าสุดที่กำลังจะเดินทางกลับบ้านคือ พี่นางและน้องดา-ลูกสาว เด็กหญิงวัย 2 ขวบกว่า กว่าขวบปีที่ครูเอ็กซ์กล่อมให้พี่นางกลับบ้าน โดยใช้อนาคตลูกเป็นแรงขับให้การตัดสินใจกลับบ้านง่ายขึ้น

“เราจากบ้านมา 10 กว่าปีแล้ว กลัวว่าพ่อแม่ ญาติพี่น้องจะไม่รับลูกสาวเรา ลำพังตัวเองจะโดนอย่างไรไม่กลัว แต่ลูกเรายังเด็ก อยู่ที่สนามหลวงก็ไม่ดีกับเขา แต่ถ้ากลับบ้านเราก็ไม่แน่ใจ”

คำสารภาพด้วยสำนึกผิดออกจากปากสาวอุดรธานีไม่ขาดสาย ก่อนหน้านี้พี่นางก็ทำงานรับจ้างเรื่อยมา จนมีเหตุให้ต้องมาอาศัยที่คลองหลอดเมื่อ 4 ปีมาแล้ว ถ้าหากไม่มีอนาคตของลูกสาวมาโหมให้ความคิดถึงบ้านให้กรุ่นขึ้นมา พี่นางก็ยังจะเป็นคนพื้นที่นี้เรื่อยไป

“คนที่นี่รักลูกเรามาก เอ็นดู ลุงๆ ป้าๆ ก็เตือนว่าถ้าปล่อยให้น้องดาโตที่นี่ ไม่ช้าเขาก็จะกลายเป็นคนสนามหลวงเหมือนเรา ปัญหามันก็จะไม่สิ้นสุดเสียที วันนี้น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับน้องดา” สิ้นคำพูดนั้นรถก็วิ่งออกไป ปลายทางอยู่แห่งไหนคงเป็นเรื่องของคนภายในรถที่จะบอกได้ หากแต่คนนอกเห็นว่าสองแม่ลูกได้หันหลังให้สนามหลวงแล้ว

**คืนสถานะทางสังคม ช่วยยาใจคนไร้บ้าน

นที บอกว่าตั้งแต่เริ่มมีอาสาสมัครมาลงพื้นที่ เห็นได้ชัดว่ามีการเกื้อกูลในสังคมเล็กๆ การที่อาสาสมัครมานั่งคุยกับคนเร่ร่อนในเสื่อผืนเดียวกัน เพียงเท่านี้ก็สามารถเรียกความเป็นมนุษย์ของคนไร้บ้านกลับมาได้ พวกเขาจะไม่รู้สึกต่ำต้อยกว่าคนอื่น เป็นวิธีการที่ใช้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบ้านมาสร้างแรงบันดาลใจให้คนกลุ่ม นี้อยากกลับบ้าน เมื่อมีคนมาถามบ่อยๆ ว่า “บ้านอยู่ไหน?” หรือพูดว่า “กลับบ้านแล้วนะ” ตามหลักธรรมชาติเชื่อว่าจะสร้างความคิดถึงบ้านให้พวกเขาได้

“การเรียกสถานภาพทางสังคมให้เขาด้วยการไหว้ มีนักศึกษา นักเรียนมาให้ความเคารพทำให้คนที่เคยแต่โดนก่นด่า ถ่มน้ำลายรดหน้า ถูกตราหน้าว่าเป็นคนจน ขอทาน ไร้ค่า จากที่เป็นไอ้ หรือ อี แต่ ณ วันหนึ่งมีคนมานั่งคุยคำว่าพี่ ป้า น้า อา กลับมาอีกครั้ง เขากลายเป็นคนมีตัวตนอีกครั้งตามเสียงเรียกของเด็กๆ นี่เป็นการกู้ศักดิ์ศรีของคนไร้บ้านได้ง่ายๆ จากการพูดคุย หรือแบ่งปันด้วยความอ่อนน้อม การยกมือไหว้ในฐานะที่เขามีวัยวุฒิที่สูงกว่าเพียงเท่านี้เขาก็มีความสุข และเราก็จะรู้สึกมีความสุขด้วย”

นอกจากนี้ นายกสมาคมกิจกรรมสร้างสรรค์อิสรชนยังเสนอแนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่ สำหรับคนเร่ร่อนไร้บ้านว่า สำหรับคนที่ไม่มีบ้านรัฐจะต้องเพิ่มทางเลือกให้คนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มีอาชีพหรือเข้าไปในความดูแลของรัฐ โดยหาเงื่อนไขที่จะทำให้เขาละเมิดกฎหมายน้อยที่สุด เพราะตนเชื่อว่าอย่างไรคนไร้บ้านยังสามารถสื่อสารกับรัฐได้

“คน ที่มาใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นที่หลบร้อน หลบฝน ใช้พื้นที่คลองหลอดหลบเลียแผลใจ ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด หลายคนถูกเอาเปรียบจากสังคม ถูกโกง นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ยึดบัตรประชาชน ถูกล้วงกระเป๋า จนทำให้เป็นคนไม่มีเอกสารพิสูจน์ตัว เพราะฉะนั้นหากจะมีรถเคลื่อนที่สักคันเพื่อที่จะสำรวจการมีตัวตนอยู่ของคน เร่ร่อนและทำบัตรประชาชนให้ใหม่ เพื่อที่เขาจะได้มีสิทธิ์รับบริการจากรัฐได้เฉกเช่นคนทั่วไป” นทีกล่าวทิ้งท้าย

************************

เรื่อง /ภาพ : กองทรัพย์ ชาตินาเสียว
โดย ผู้จัดการรายวัน 26 กุมภาพันธ์ 2551 07:27 น

อีกมุมในปี 2549
http://www.facebook.com/#!/notes/nthi-sr-wari/rongreiyn-khang-thnn-khn-snam-hlwng/291007002862