Bookmark and Share

สนุก ! ความรู้

วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

Facebook | นที สรวารี: โรงเรียนข้างถนน คนสนามหลวง

Facebook | นที สรวารี: โรงเรียนข้างถนน คนสนามหลวง

โรงเรียนข้างถนน คนสนามหลวง

เคยนับเล่นๆ ดูไหมว่าเดินผ่านสนามหลวงปีหนึ่งกี่ครั้ง นั่งพักให้หายเหนื่อยกี่หน เชื่อแน่ว่าหลายคนใช้พื้นที่นี้เป็นทางผ่าน แต่อีกหลายร้อยชีวิต ท้องสนามหลวงเรียกได้ว่าเป็น “บ้าน” แม้จะมีคำถามอยู่บ้างว่าอะไรที่ทำให้คนเหล่านี้เลือกหันหลังออกจากครอบครัว ออกสู่ถนน เพราะความล้มเหลวเชิงนโยบายและโครงสร้างสังคม เพราะสภาพเศรษฐกิจที่บีบรัดใช่หรือไม่ หรือเพียงเพราะพวกเขาต้องการมีพื้นที่แห่งความสุขเท่านั้น

คนมีสตางค์สามารถเจอะเจอเพื่อนใหม่ๆ ได้ตามผับ เธค บาร์ หรือร้านอาหาร แล้วนั่งดริงก์สร้างสัมพันธ์ แต่คนยากคนจนมักจะมีที่พบปะเป็นริมถนน คนละกั๊กคนละแบนก็มีความสุข เฮฮากัน ทว่าบางคนถูกพันธนาการด้วยคำสัญญาที่หวังว่าเพื่อนจะมาหาอีก จากวันเป็นเดือน จนเคลื่อนเป็นปี กระทั่งเสพติดกับพื้นที่จนกลายเป็นคนสนามหลวงอย่างเต็มตัว

**เสน่ห์และความจริงที่สนามหลวง

สำหรับผู้ชายคนหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดในบริเวณสนามหลวงเมื่อ 3 ปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้ทำงานกับกลุ่มคนไร้บ้านในพื้นที่สนามหลวงและคลอง หลอดอย่างจริงจัง...

นที สรวารี หรือ ครูเอ็กซ์ ในฐานะนายกสมาคมกิจกรรมสร้างสรรค์อิสรชน เล่าย้อนไปในคืนที่ฟ้าห่มผ้าลายดวงดาวขาว-ดำเมื่อ 3 ปีก่อนว่า หลังจากเหนื่อยอ่อนจากการลงพื้นที่ทำงานกับเด็กเร่ร่อนในต่างจังหวัดแล้ว แวะพักเหนื่อยที่สนามหลวงและเผลอหลับขณะที่ข้าวของอย่างโทรศัพท์มือถือ ตลอดรวมถึงกระเป๋าสตางค์ยังวางแบะที่หน้าอก คำพูดที่ว่าหากมาสนามหลวงของมีค่าหายไม่มีเหลือแน่เหมือนจะปลุกให้ตนเอง ตื่นขึ้นมา

แต่สิ่งที่ เห็นเมื่อลืมตาพบก็คือมีชายแก่คนหนึ่งนั่งพัดปัดยุงและจุดยากันยุงให้ นี่เองทำให้ค้นพบคำตอบและอยากจะบอกให้คนอื่นๆ ได้เห็นแบบเดียวกันว่า นี่คือเสน่ห์เล็กๆ ของอีกมุมเมือง หากแต่ใส่ใจดูสักเพียงนิด

“สถานการณ์ของคนสนามหลวงตอนนี้จะมีตั้งแต่กลุ่มคนที่มีบ้านแต่ไม่ อยากอยู่เพราะไม่มีความสุข อีกกลุ่มหนึ่งคือครอบครัวมีฐานะ แต่อาจจะเหงา เมื่อเขามาแถวนี้แล้วพบว่าคนที่นี่มีความเอื้อเฟื้อในความรู้สึกของเขา อาจจะด้วยการพูดคุย ร้องเพลงเฮฮา ก็ตัดสินใจมาอยู่ นอกจากนี้ยังมีคนที่เข้ามาทำงานแล้วถูกหลอก ไม่รู้จะไปไหน สนามหลวงก็เป็นที่พักสุดท้าย”

“คน ที่ใช้พื้นที่คลองหลอดสนามหลวงมี 2- 3 ส่วนคือกลุ่มของผู้ขายบริการทั้งผู้หญิงและผู้ชายตลอด 24 ชั่วโมงมี 800-1,000 คน คนเร่ร่อนไร้บ้านมีไม่น้อยกว่า 50-80 ครอบครัว โดยเฉลี่ยแล้วจะมีคนเร่ร่อนในละแวกนี้ไม่น้อยกว่า 200-300 คน ยังไม่รวมถึงคนที่มาแบบเดี่ยวๆ รวมทั้งหมดไม่น้อยกว่า 500 คน ตัวเลขค่อนข้างเยอะและไม่นิ่งตายตัว” ครูเอ็กซ์เล่า

**เรียนรู้ชีวิตจากครูข้างถนน

ครูเอ็กซ์บอกว่า ในระยะแรกๆ สมาคมฯ เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มคนในพื้นที่คลองหลอดสนามหลวงให้ห่วงใยสุขภาพและคุณภาพ ชีวิตมากขึ้น จากนั้นเริ่มส่งครอบครัวเร่ร่อนให้ได้กลับบ้าน ทั้งระดมทุนให้เดินทางกลับเอง ติดต่อญาติให้มารับ หรือประสานงานกับนายจ้างเพื่อหาวิชาชีพให้

ขณะเดียวกันสมาคมฯ พยายามที่จะผลักดันและเปิดโอกาสกับทุกคนในสังคมที่อยากใช้เวลาว่างเรียนรู้ รูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากปกติวิสัย โดยการสมัครเป็นอาสาสมัคร ใช้เวลาหนึ่งวันตั้งแต่เช้าจดค่ำลงพื้นที่บริเวณคลองหลอดสนามหลวง ศึกษาการใช้ชีวิตร่วมกับกลุ่มคนไร้บ้าน คนอิสรชนเรียกกิจกรรมนี้ว่า “โรงเรียนข้างถนน”

“ไม่ต้องมานอนค้าง แค่มาเรียนรู้มากินข้าวแกงจานละ 10 บาทข้างถนนกับคนสนามหลวง มาเป็นผู้สังเกตการณ์ด้วยความสงบ ปราศจากอคติ บางคนอาจจะตั้งคำถามก็ได้ว่าทำไมคนกลุ่มนี้จึงต้องดื่ม พวกเขาพูดเรื่องอะไรกัน บรรยากาศการพูดคุยเป็นอย่างไร แล้วจะพบว่าคนเล็กๆ กลุ่มนี้ แม้ภายนอกจะดูคล้ายกับคนกร้าวร้าว น่ากลัว แต่จริงๆ แล้วมีความเกื้อกูลกันแฝงอยู่ ซึ่งนี่เองคือสิ่งที่อิสรชนเพียรบอกกับอาสาสมัคร ซึ่งมีทั้งนักศึกษา นักเรียน และคนทำงาน” ครูเอ็กซ์ของชาวสนามหลวงให้ภาพ

**เปิดใจนักเรียนข้างถนน

และวันที่บรรดาครูผู้ยึดคลองหลอดเป็นบ้านจะเปิดประตูต้อนรับนักเรียนที่จะมาศึกษาบทเรียนชีวิตจากพวกเขาก็มาถึงอีกครั้ง...

“ตอนแรกก็กลัวเลยแหละ แต่พอได้เข้ามาคุยก็รู้สึกดีขึ้น เห็นว่าชีวิตเขาเจออะไรที่โหดร้ายมาเยอะ แต่ว่าก็ยังไม่สนิทใจเพียงพอที่จะกล้ามาเดินแถวสนามหลวงคนเดียว...” นี่คือคำกล่าวของ ติ๊ก-สุดาวรรณ ผาสุข นักศึกษาปริญญาโท สาขานิเทศศาสตร์พัฒนาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันนี้ติ๊กมาลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลคนเร่ร่อน เธอบอกว่าเพิ่งจะมาคลองหลอดสนามหลวงอย่างจริงจังเป็นครั้งที่ 2 เท่านั้น ความหวาดหวั่นผ่านคำบอกเล่าจึงมีอยู่ให้เห็น ทว่าแววตาที่มองไปยังคนเร่ร่อนไร้บ้านก็ยังมีความอาทรแฝงอยู่นัยน์ตาคู่ นั้นเช่นกัน

“ครั้งนี้มาศึกษาข้อมูลการกลับบ้านของคนเร่ร่อน แล้วก็ได้ข้อคิดดีๆ กลับบ้านไปด้วย เมื่อฟังคนเร่ร่อนได้เล่าเรื่องตัวเอง รู้สึกว่าพวกเขามีความภูมิใจในตัวเองที่อย่างน้อยยังมีคนรับฟังเรื่องราว ทั้งดีหรือไม่ดีของพวกเขา เพราะอย่างน้อยก็ก่อให้เกิดความรู้สึกว่า ตัวเองพอจะมีประโยชน์ต่อคนอื่นอยู่บ้าง” นักศึกษาปริญญาโทพูดเมื่อเราเดินผ่านกลุ่มคนไร้บ้านออกมา

อัจฉรา อุดมศิลป์ หรือ น้องจ๊ะจ๋า นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในอาสาสมัครที่คุ้นเคยกับคนสนามหลวงเป็นอย่างดี เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นที่ได้มาลงพื้นที่ว่า ได้เข้ามาฝึกงานตั้งแต่เรียนปี 2 ในครั้งแรกที่ได้เจอกับกลุ่มคนไร้บ้านจะรู้สึกกลัว เกรงว่าจะมีอันตราย ครอบครัวก็ไม่เห็นด้วยกับการลงมาทำงานกับคนกลุ่มนี้ แต่เมื่อได้มาสัมผัสในทุกด้านแล้ว ความเกรงกลัวถูกทลายด้วยรอยยิ้มของคนคลองหลอด-สนามหลวง

“พี่ ที่สมาคมอิสรชนรับรองความปลอดภัยให้ แต่ภาพในความคิดของเรามันยังอันตรายอยู่ แม่ก็เป็นห่วง วันแรกที่มาเกรงๆ กลัวๆ ไม่รู้จะพูดหรือทำอะไรไป ถ้าผิดแล้วจะถูกทำอะไรรึเปล่า แต่พอได้ลงพื้นที่บ่อยๆ ก็พบว่าคนไร้บ้านก็มีความน่ารัก มีเสน่ห์ บางทีเราก็ได้ข้อคิดจากพวกเขา เพราะเขาผ่านอะไรมามาก ทำให้เราหันกลับไปมองตัวเองมากขึ้น มองคนที่เรารักที่บ้านมากขึ้นว่าเคยทำผิดอะไรหรือเปล่า เพราะบางเรื่องที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ทำให้บางคนสะเทือนใจจนเป็นแรงผลักให้ออกมาเป็นคนเร่ร่อนก็ได้”

จ๊ะจ๋า เล่าว่า เมื่อเธอหายไปและกลับมาเยี่ยมคนเหล่านี้อีกครั้ง จะมีคำไถ่ถามเช่นญาติผู้ใหญ่ที่ทักทายลูกหลาน บ้างก็ว่าผอมลง อ้วนขึ้น แล้วก็เริ่มเล่าเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ฟัง

“การได้มาเยี่ยม มาคุย ทำให้เห็นว่าคนไร้บ้านอยู่อย่างไร กินอย่างไร ใครไม่สบาย หรือต้องการความช่วยเหลือ เวลาที่ได้กินอาหารดีๆ ก็จะนึกถึงเขา เห็นอะไรก็จะเอาไปเล่าให้แม่ฟัง ปรับทัศนคติที่บ้านได้ด้วย จากที่เขารู้สึกไม่ดีก็ไม่ได้ดูถูกหรือเกลียดชังแล้ว”

จ๊ะจ๋าทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกว่า อย่ามองคนแต่เพียงภายนอก จริงอยู่ว่าคนกลุ่มนี้มีส่วนหนึ่งที่เกเร แต่ในสายตาคนนอกต้องเข้าใจว่าชีวิตของพวกเขาอาจจะผ่านสิ่งที่เลวร้ายอย่าง ไม่น่าเชื่อมา จึงต้องมีเกราะป้องกันตัวเองให้ดูเข้มแข็งจนบางครั้งดูกร้าวร้าว หากได้มาลองฟังเรื่องของพวกเขาเพียงสักครั้งจะทำให้ยอมรับในการต่อสู้ชีวิต และหวนคิดว่าหากเป็นเราจะสู้ได้เท่าที่เขาสู้หรือไม่

และกลุ่มสุดท้ายที่ร่วมลงพื้นที่สนามหลวงคลองหลอดครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนสตรีวัดระฆัง น้องลูกน้ำ-พรทิวา แก้วนาเคียน ตัวแทนเพื่อนๆ อีก 10 คนเล่าว่า เริ่มเก็บข้อมูลและขอลงพื้นที่กับกลุ่มอิสรชนตั้งแต่ช่วงปีใหม่ แต่ยังไม่กล้าลงมาพูดคุยอย่างกล้าหาญเช่นครั้งนี้

“ครั้งแรกเราก็ไม่ได้คุยกับใครเพราะเราก็เหมือนคนแปลกหน้าสำหรับเขา เขาไม่ไว้วางใจ เราก็กลัว แต่ว่าพอมาคุยกับป้าๆ ที่นี่ รู้สึกว่ารักแม่มากกว่าเดิม ถ้ามีครอบครัวถ้าไม่เอาใจใส่ก็จะเจอสภาพปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้น และถ้าเอาใจใส่มากไปเขาก็อาจจะอึดอัดจนหนีออกมาก็ได้ ทุกอย่างต้องอยู่บนความพอดี เห็นได้ชัดว่าทัศนคติของพวกเราเปลี่ยนไป เข้าใจมากขึ้นว่าคนเร่ร่อนบางคนมีความจำเป็นที่จะต้องมาอยู่ที่นี่ พวกเขาคงไม่มีความสุขเท่าไหร่นัก แต่ที่นี่คงปลอดภัยสำหรับเขาจริงๆ” น้องลูกน้ำพูดยิ้มๆ

**คำให้การคนไร้บ้านบางส่วนเสี้ยว

ณ วันนี้ตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมา กลุ่มสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชนได้ประสานงานให้คนเร่ร่อนได้กลับบ้านไปแล้ว 9 ครอบครัว ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับรายงานว่าจะหวนกลับมาที่คลองหลอดสนามหลวงอีก แต่มีบางครอบครัวที่หวนกลับมาใช้ชีวิตในพื้นที่นี้อีก เนื่องจากพวกเขาสูญเสียแก้วตาดวงใจไป

โจ้ และ อุ้ม หนุ่มสาวชาวสกลนครหน้าซื่อ ร่างกายของโจ้ผอมกะหร่อง สองขาที่ดูไร้เรี่ยวแรงยืนขายภาพวาดให้กับผู้มาถวายสักการะสมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เขากลับมาเป็นคนสนามหลวงอีกครั้งหลังจากที่ลูกสาววัย 4 เดือนเสียชีวิตด้วยไข้มาลาเรีย หลังจากตัดสินใจลาขาดสนามหลวงเพื่อไปทำงานที่กระบี่ แต่จนแล้วจนรอดเขาและภรรยาก็หนีวงเวียนนี้ไม่พ้น วันนี้โจ้บอกว่าเขาอยากจะเก็บเงินให้ได้เพียงพอที่จะจับรถไปกระบี่แล้วไปขอ ใบมรณะบัตรลูกสาว แล้วค่อยไปบำเพ็ญกุศลที่บ้านเกิด ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าวันนั้นจะมาถึงเมื่อใด

ป้าพร อดีตสาวเชียงใหม่ที่วันนี้ตั้งหลักปักฐานบนพื้นที่คลองหลอดไปแล้วเต็มตัว ใบหน้าที่มีเค้าโครงความงามเมื่อครั้งสาวรุ่น เล่าด้วยน้ำตานองหน้าถึงอดีตที่ผ่านมา การระเห็จออกจากบ้านไปอยู่อุดรธานีตั้งแต่แรกสาว 18 เพราะความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในครอบครัว ป้าพรตัดสินใจขายบริการ จนกระทั่งได้พบพ่อของลูกสาว 2 คนในปัจจุบัน หลังจากสามีเสียชีวิต และอีกหลายเหตุผลที่ทำให้ป้าพรกลายเป็นคนเร่ร่อน และป้าพรก็เป็นคนหนึ่งที่กลับบ้านแล้วกลับมาอีก

“ป้า เลิกขายบริการเพราะสามีที่ดี เราสองคนย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ และเลี้ยงลูกสาว 2 คนจนโต วันนี้ลูกสาวคนโตทำงานในบริษัทเอกชน คนเล็กเรียนปีสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง เวลาที่นักเรียนมาเยี่ยม เอาขนมหรือหายามาให้ทำให้เราคิดถึงลูกนะ แต่ว่าถ้าเราไปอยู่ที่บ้านมันก็ไม่มีความสุข เพราะเขารักเรามากเกินไป ต้องกินเหมือนลูก ไปไหนกับลูก เวลาเขาไปทำงานเขาก็จะล็อกประตูจากด้านนอก ป้าไปไหนไม่ได้ มันเหงา สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาอีก วันนี้ยังอยากให้ลูกมาเยี่ยมบ้าง แต่ถามว่าจะให้กลับไปอยู่ด้วยอีกไหม ยังไม่รู้ เพราะอยู่นี่ป้าก็มีความสุขดี” มือหนึ่งปาดน้ำตา อีกมือหนึ่งป่ายเปะปะหาที่ยึดเหนี่ยวพอให้ร่างซูบผอมนั้นมั่นคง

ครอบครัวล่าสุดที่กำลังจะเดินทางกลับบ้านคือ พี่นางและน้องดา-ลูกสาว เด็กหญิงวัย 2 ขวบกว่า กว่าขวบปีที่ครูเอ็กซ์กล่อมให้พี่นางกลับบ้าน โดยใช้อนาคตลูกเป็นแรงขับให้การตัดสินใจกลับบ้านง่ายขึ้น

“เราจากบ้านมา 10 กว่าปีแล้ว กลัวว่าพ่อแม่ ญาติพี่น้องจะไม่รับลูกสาวเรา ลำพังตัวเองจะโดนอย่างไรไม่กลัว แต่ลูกเรายังเด็ก อยู่ที่สนามหลวงก็ไม่ดีกับเขา แต่ถ้ากลับบ้านเราก็ไม่แน่ใจ”

คำสารภาพด้วยสำนึกผิดออกจากปากสาวอุดรธานีไม่ขาดสาย ก่อนหน้านี้พี่นางก็ทำงานรับจ้างเรื่อยมา จนมีเหตุให้ต้องมาอาศัยที่คลองหลอดเมื่อ 4 ปีมาแล้ว ถ้าหากไม่มีอนาคตของลูกสาวมาโหมให้ความคิดถึงบ้านให้กรุ่นขึ้นมา พี่นางก็ยังจะเป็นคนพื้นที่นี้เรื่อยไป

“คนที่นี่รักลูกเรามาก เอ็นดู ลุงๆ ป้าๆ ก็เตือนว่าถ้าปล่อยให้น้องดาโตที่นี่ ไม่ช้าเขาก็จะกลายเป็นคนสนามหลวงเหมือนเรา ปัญหามันก็จะไม่สิ้นสุดเสียที วันนี้น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับน้องดา” สิ้นคำพูดนั้นรถก็วิ่งออกไป ปลายทางอยู่แห่งไหนคงเป็นเรื่องของคนภายในรถที่จะบอกได้ หากแต่คนนอกเห็นว่าสองแม่ลูกได้หันหลังให้สนามหลวงแล้ว

**คืนสถานะทางสังคม ช่วยยาใจคนไร้บ้าน

นที บอกว่าตั้งแต่เริ่มมีอาสาสมัครมาลงพื้นที่ เห็นได้ชัดว่ามีการเกื้อกูลในสังคมเล็กๆ การที่อาสาสมัครมานั่งคุยกับคนเร่ร่อนในเสื่อผืนเดียวกัน เพียงเท่านี้ก็สามารถเรียกความเป็นมนุษย์ของคนไร้บ้านกลับมาได้ พวกเขาจะไม่รู้สึกต่ำต้อยกว่าคนอื่น เป็นวิธีการที่ใช้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบ้านมาสร้างแรงบันดาลใจให้คนกลุ่ม นี้อยากกลับบ้าน เมื่อมีคนมาถามบ่อยๆ ว่า “บ้านอยู่ไหน?” หรือพูดว่า “กลับบ้านแล้วนะ” ตามหลักธรรมชาติเชื่อว่าจะสร้างความคิดถึงบ้านให้พวกเขาได้

“การเรียกสถานภาพทางสังคมให้เขาด้วยการไหว้ มีนักศึกษา นักเรียนมาให้ความเคารพทำให้คนที่เคยแต่โดนก่นด่า ถ่มน้ำลายรดหน้า ถูกตราหน้าว่าเป็นคนจน ขอทาน ไร้ค่า จากที่เป็นไอ้ หรือ อี แต่ ณ วันหนึ่งมีคนมานั่งคุยคำว่าพี่ ป้า น้า อา กลับมาอีกครั้ง เขากลายเป็นคนมีตัวตนอีกครั้งตามเสียงเรียกของเด็กๆ นี่เป็นการกู้ศักดิ์ศรีของคนไร้บ้านได้ง่ายๆ จากการพูดคุย หรือแบ่งปันด้วยความอ่อนน้อม การยกมือไหว้ในฐานะที่เขามีวัยวุฒิที่สูงกว่าเพียงเท่านี้เขาก็มีความสุข และเราก็จะรู้สึกมีความสุขด้วย”

นอกจากนี้ นายกสมาคมกิจกรรมสร้างสรรค์อิสรชนยังเสนอแนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่ สำหรับคนเร่ร่อนไร้บ้านว่า สำหรับคนที่ไม่มีบ้านรัฐจะต้องเพิ่มทางเลือกให้คนเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้มีอาชีพหรือเข้าไปในความดูแลของรัฐ โดยหาเงื่อนไขที่จะทำให้เขาละเมิดกฎหมายน้อยที่สุด เพราะตนเชื่อว่าอย่างไรคนไร้บ้านยังสามารถสื่อสารกับรัฐได้

“คน ที่มาใช้พื้นที่สนามหลวงเป็นที่หลบร้อน หลบฝน ใช้พื้นที่คลองหลอดหลบเลียแผลใจ ส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด หลายคนถูกเอาเปรียบจากสังคม ถูกโกง นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ยึดบัตรประชาชน ถูกล้วงกระเป๋า จนทำให้เป็นคนไม่มีเอกสารพิสูจน์ตัว เพราะฉะนั้นหากจะมีรถเคลื่อนที่สักคันเพื่อที่จะสำรวจการมีตัวตนอยู่ของคน เร่ร่อนและทำบัตรประชาชนให้ใหม่ เพื่อที่เขาจะได้มีสิทธิ์รับบริการจากรัฐได้เฉกเช่นคนทั่วไป” นทีกล่าวทิ้งท้าย

************************

เรื่อง /ภาพ : กองทรัพย์ ชาตินาเสียว
โดย ผู้จัดการรายวัน 26 กุมภาพันธ์ 2551 07:27 น

อีกมุมในปี 2549
http://www.facebook.com/#!/notes/nthi-sr-wari/rongreiyn-khang-thnn-khn-snam-hlwng/291007002862